วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

คำสมาส

คำสมาส
        คำสมาส คือ คำที่เกิดจากการสมาสคำ การสมาสคำเป็นวิธีสร้งคำในภาษาบาลีสันสกฤต การสมาสก็คล้ายคลึงกับการประสมคำในภาษาไทย คือเป็นการนำคำตั้งแต่ 2 คำขึ้นไปมารวมเป็นคำเดียวแต่คำสมาสกับคำประสมเรียงคำต่างกัน ถ้าเป็นคำสมาส คำหลักมักอยู่ข้างหลัง คำขยายมักอยู่ข้างหน้า แต่ถ้าเป็นคำประสมคำหลักมักอยู่ข้างหน้า คำขยายมักอยู่ข้างหลัง เช่น คำประสม เมืองหลวง คำเมืองซึ่งเป็นคำหลักอยู่ต้นคำ แต่คำสมาส ราชธานี  คำ ธานี ซึ่งแปลว่า เมืองอยู่ท้ายคำ คำสมาสในภาษาไทยมีผู้วางหลักเกณฑ์ไว้ดังนี้
        1. คำที่สมาสกันต้องเป็นคำบาลี สันสกฤตเท่านั้น อาจจะเป็นบาลีสมาสกับบาลี เช่น ทิพโสต ขัตติยมานะ สันสกฤตสมาสกับสันสกฤต เช่น อักษรศาสตร์ บุรุษโทษ บาลีสมาสกับสันสกฤต เช่น วิทยาเขต วัฒนธรรม
        อย่างไรก็ตาม ในภาษาไทยมีการรวมคำบาลีสันสกฤตและคำไทยเข้าด้วยกันจำนวนไม่น้อย  จึงต้องถือว่าเป็นคำประสม แต่อาจจะออกเสียงต่อเนื่องกันทำนองคำสมาสได้ เช่น พลเมือง ราชวัง สรรพสินค้า ผลไม้
        2. คำสมาสไม่ต้องประวิสรรชนีย์หรือมีเครื่องหมายทัณฑฆาตที่อักษรสุดท้ายของคำหน้า เช่น ศิลปกรรม ธุรการ สัมฤทธิบัตร วารดิถี
        3. คำสมาสเมื่อแปลความหมายเป็นภาษาไทยมักแปลย้อนหลังจากคำหลังไปหาคำหน้า เช่น


นิตยสาร 
หมายถึง
สารที่ออกเป็นนิตย์
มรณบัตร
หมายถึง 
ใบ (เอกสาร)  แสดงว่าถึงแก่กรรม
สังฆทาน  
หมายถึง    
การให้แก่สงฆ์

        อนึ่ง เมื่อนำคำมาสมาสกัน อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเสียงบ้าง เราเรียกว่า การสนธิซึ่งเป็นวิธีการเชื่อมเสียงให้กลมกลืนกัน ตามหลักภาษาบาลีสันสกฤต เช่น

ทูต+อนุทูต
เป็น   
ทูตานุทูต
โภค+ไอศูรย์    
เป็น 
โภไคศูรย์
ราชินี+อุปถัมภ์  
เป็น 
ราชินูปถัมภ์
กรี+อินทร์ 
เป็น 
กรินทร์
ศาสน+อุปถัมภก
เป็น 
ศาสนูปถัมภก

        ความหมายของคำสมาสมักเป็นความหมายรวมของคำที่นำมาสมาสกัน โดยที่คำที่นำมาสมาสกันนั้นจะมีความสัมพันธ์ทางความหมายต่างๆ กัน เช่น

ทิพโสต หูเพียงดังทิพย์
ขัตติยมานะความถือตัวว่าเป็นกษัตริย์
พุทธรัตนะรัตนะคือพระพุทธเจ้า
อัคคีภัย ภัยจากไฟ
ราชบุตร  โอรสแห่งพระราชา
วนารามอารามในป่า
สังฆทานการให้แก่สงฆ์
สมถวิปัสสนาสมถะและวิปัสสนา

        ข้อสังเกต การแปลความหมายของคำสมาสแต่ละคำจะมีคำที่เพิ่มเข้ามา เพื่อแสดงความสัมพันธ์ทางความหมายของคำที่นำมาสมาสกัน เช่น วนาราม หมายถึง อารามในป่า คำว่า ใน ช่วยแสดงว่า วน ซึ่งหมายถึงป่าเป็นสถานที่ซึ่งอารามตั้งอยู่ คำที่เพิ่มเข้ามาเหล่านี้ได้พิมพ์ตัวหนาไว้เพื่อให้เห็นชัดเจน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น